ReadyPlanet.com


ม.เชียงใหม่ พลิกที่ดิน 88 ไร่ ทำเลทองผืนสุดท้ายย่านนิมมานเหมินท์ ขึ้น "CMU Square"


 ม.เชียงใหม่ พลิกที่ดิน 88 ไร่ ทำเลทองผืนสุดท้ายย่านนิมมานเหมินท์ ขึ้น "CMU Square"

 
Prev1 of 1Next
คลิกภาพเพื่อขยาย
updated: 22 ธ.ค. 2558 เวลา 13:56:07 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
 
ม.เชียงใหม่พลิกที่ดิน 88 ไร่ ทำเลทองผืนสุดท้ายย่านนิมมานเหมินท์ ขึ้น "CMU Square" "เซ็นทรัล-สยามฟิวเจอร์-อรสิริน-ตลาดต้นพะยอม" ชิงดำสัมปทานเฟสแรก 30 ไร่ ลงทุนกว่า 300 ล้าน พร้อมทุ่มอีก 200 ล้าน ปักหมุดแลนด์มาร์กพื้นที่สีเขียว 41 ไร่
 
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานบริหารการเงินและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดทำผังแม่บทการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยวางแนวทางพัฒนาพื้นที่ราว 88 ไร่ บนถนนนิมมานเหมินท์ ตรงข้ามหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานการศึกษาและบริการวิชาการภายใต้โครงการ "CMU Square" (ซีเอ็มยู สแควร์) ซึ่งแบ่งเป็น 4 โซนคือ โซนศิลปะ (Arts) โซนวัฒนธรรมล้านนา (Culture) โซนธรรมชาติ (Nature) และโซนชุมชน (Community) 
 
ทั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญที่จะพัฒนาและบูรณาการพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและบริการวิชาการแก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป รวมถึงเพื่อเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์ คุ้มค่าและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งพื้นที่ 88 ไร่ดังกล่าวนี้ถือเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ที่สุดบนถนนนิมมานเหมินท์ ซึ่งที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้พัฒนาเป็นแปลงทดลองการเกษตร การปลูกข้าว ปลูกผักเพื่อการเรียนรู้ 
 
ด้านรองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร ผู้จัดการโครงการซีเอ็มยู สแควร์ เปิดเผยเพิ่มเติมกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จะเริ่มพัฒนาโครงการเฟสแรก คือ โซนชุมชน (Community) บนพื้นที่ 30 ไร่ ซึ่งจะเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับบริษัทเอกชน ขณะนี้มีกลุ่มทุนรายใหญ่จำนวน 4 ราย ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการ ประกอบด้วยกลุ่มทุนจากส่วนกลาง 2 ราย คือ กลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มสยามฟิวเจอร์ 
 
ส่วนกลุ่มทุนท้องถิ่นเชียงใหม่อีก 2 รายคือ กลุ่มอรสิริน ของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มตลาดต้นพะยอม ซึ่งกลุ่มทุนทั้ง 4 รายจะต้องนำเสนอโครงการ (Proposal) เข้ามาเพื่อให้มหาวิทยาลัยพิจารณา โดยจะเปิดให้มีการยื่น Proposal ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และคาดว่าภายในเดือนเมษายน 2559 จะได้ผู้ร่วมทุนและจะทำสัญญาร่วมทุน พร้อมเริ่มพัฒนาโครงการทันที
 
สำหรับรูปแบบของการร่วมทุน จะเป็นลักษณะการให้เช่าสัมปทานที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการระยะเวลา 25 ปี โดยเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนด้านการก่อสร้างโครงการทั้งหมดและบริหารจัดการโครงการ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุนมากกว่า 300 ล้านบาท ขณะที่รูปแบบของโครงการจะต้องดำเนินการตามคอนเซ็ปต์ที่มหาวิทยาลัยวางแนวทางไว้ คือ เป็นศูนย์ให้ข้อมูลของมหาวิทยาลัย รวมทั้งพื้นที่แสดงผลงาน ลานกิจกรรม ลานจอดรถ ร้านค้าให้บริการขนาดต่าง ๆ ซึ่งอาคารต่าง ๆ กำหนดให้มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร
 
รองศาสตราจารย์ประเสริฐกล่าวอีกว่า นอกจากโซน Community บนพื้นที่ 30 ไร่ที่จะเริ่มทำในราวต้นปี 2559 แล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะพัฒนาเฟสที่ 2 ต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กัน 3 โซน ด้วยงบประมาณที่มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ลงทุนเองจำนวนกว่า 200 ล้านบาท คือ โซนธรรมชาติ บนพื้นที่ 41 ไร่ โดยออกแบบ/ปรับปรุงพื้นที่ทั้ง 41 ไร่ ให้เป็นพื้นที่สีเขียว เน้นภูมิสถาปัตยกรรม พร้อมเครื่องบ่งชี้สถานที่ (Landmark) ให้มีความโดดเด่น สวยงาม เป็นปอดและจุดหมายปลายทางอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ภายในโครงการยังออกแบบให้มีทางเท้า ทางจักรยาน ลานกิจกรรมอเนกประสงค์ และที่จอดรถที่สามารถรองรับจำนวนรถยนต์ได้มากกว่า 1,000 คัน 
 
ขณะที่โซนวัฒนธรรมและโซนศิลปะ มีพื้นที่รวมกัน 17 ไร่ ซึ่งจะเป็นลักษณะของการปรับปรุงโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว คือ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม 9 ไร่ จะพัฒนาเรือนโบราณ ให้เป็นอุทยาน Lanna Village ที่เปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษา ในลักษณะศูนย์การเรียนรู้ด้านล้านนาศึกษา มีกิจกรรมวิถีชีวิตล้านนาไทลื้อ ไทยวน ไทเขิน ไทใหญ่ โดยให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมเป็นล้านนาคดีแบบจำลองมีชีวิต ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในเชียงใหม่ กลุ่มเป้าหมายมีทั้งเยาวชน นักศึกษา นักวิชาการ และนักท่องเที่ยว
 
นอกจากนั้นยังสามารถสร้างเครือข่ายและพันธมิตรกับชุมชน ท้องถิ่น ผสมผสานนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเอง รวมทั้งสล่า แพทย์พื้นบ้าน โฮงเฮียนสืบสาน ภูมิปัญญาล้านนา ชุมชนสล่าเมือง ช่างสิบหมู่ล้านนา วัด และชุมชนจำนวนมาก
 
ส่วนโซนศิลปะ ซึ่งเป็นอาคารหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม บนพื้นที่ 8 ไร่จะมีการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่โดยรอบให้เป็นการพัฒนาด้านภูมิสถาปัตยกรรมและกิจกรรมด้านศิลปะ ลานกิจกรรม ร้านค้าด้านศิลปะ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่จัดกิจกรรม อาทิ กิจกรรมนิทรรศการถาวรและหมุนเวียน กิจกรรมศิลปะเด็ก กิจกรรมโรงภาพยนตร์ทางเลือกและกิจกรรมศิลปะเพื่อชุมชน เป็นต้น 
 
"โครงการซีเอ็มยู สแควร์ จะทำให้มีการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 88 ไร่ เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและบริการวิชาการ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และยังมีพื้นที่ทำกิจกรรมทางวิชาการของนักศึกษา รวมทั้งพื้นที่อำนวยความสะดวกและให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยโครงการจะเริ่มพัฒนาในราวเดือนเมษายน 2559 คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดภายใน 2-3 ปี" ผู้จัดการโครงการซีเอ็มยู สแควร์ กล่าว


ผู้ตั้งกระทู้ Admin :: วันที่ลงประกาศ 2015-12-29 08:33:34


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.